Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การลงโทษยังจำเป็นอยู่มั้ย สำหรับการเลี้ยงเด็กเล็ก

Posted By Plook TCAS | 15 ก.ย. 66
470 Views

  Favorite

          เชื่อมั่นว่าคุณพ่อคุณแม่หลายคน เติบโตมากับคำสอนและการเลี้ยงดูที่ว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” สุภาษิตไทยที่ได้รับการถ่ายทอดต่อเนื่องมายาวนาน จนทำให้ความเชื่อนี้กลายเป็นรากฐานการเลี้ยงลูกแบบไทย ๆ และหลายครอบครัวก็ยังยอมรับและรู้สึกว่า คำสอนนี้น่าจะยังใช้ได้อยู่ เพราะการตี หรือการเลี้ยงลูกด้วยไม้เรียวก็เคยเป็นอุปกรณ์ช่วยสร้างความสำเร็จให้แก่เด็กมามากมาย แต่หากตั้งคำถามกันจริง ๆ ว่า ที่เด็กประสบความสำเร็จ ใช่เพราะไม้เรียว ไม้แขวนเสื้อ ก้านมะยม หนังเข็มขัด หรือสุดแล้วแต่อะไรที่คุณพ่อคุณแม่จะใช้ตีลูกใช่จริง ๆ เหรอ หรือความจริงแล้ว ปัจจัยอื่นต่างหาก ที่ทำให้การเลี้ยงลูกในอดีตประสบความสำเร็จ ดังนั้นการจะยกความดีความชอบให้แก่เจ้าไม่เรียว ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ยิ่งเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลง บริบททางสังคมเปลี่ยนไป การที่พ่อแม่จะเลี้ยงลูกให้ได้ดี หรือคุณครูจะสร้างนักเรียนให้เป็นคนดี ด้วย “ไม้เรียว” หรือการ “การลงโทษด้วยการตี” ที่อาจเคยใช้ได้ผลดีในวิถีแบบดั้งเดิม วันนี้คำตอบอาจจะเปลี่ยนไป

          การการตีในปัจจุบันนี้ถูกมองว่าเป็นการกระทำความรุนแรง เป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม เริ่มไม่ได้รับการยอมรับ และยังเข้าข่ายความผิดทางกฎหมาย ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่น เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งนักเรียนรวมทั้งผู้ปกครองสามารถร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีได้ นอกจากนี้ จากการศึกษาวิจัยยังพบว่า การทำโทษโดยการตี อาจนำมาซึ่งพฤติกรรมต่อต้านสังคม ความก้าวร้าว เสพติดความรุนแรง  และการกระทำผิดที่เพิ่มขึ้นได้

          คำถามสำคัญ เอ แล้วถ้ารักลูกแล้วไม่ให้ตี และจะมีวิธีลงโทษลูกอย่างไร เวลาที่ลูกทำความผิด หรือเวลาที่พ่อแม่ต้องการสอนเรื่องความถูกผิด จะให้อะไรเป็นบทลงโทษลูก ถ้าตีไม่ได้ อย่างนี้เด็กจะไม่กลายเป็นลูกเทวดาเหรอ แตะต้องไม่ได้ เปราะบาง ขัดใจไม่ได้ สั่งสอนไม่ได้ แล้วจะขัดเกลาลูกอย่างไร อย่าเพิ่งกังวลใจไปค่ะ จริง ๆ คุณพ่อคุณแม่และคุณครู ยังสามารถลงโทษเด็ก ๆ ได้อย่างแน่นอนค่ะ และการขัดเกลาก็ยังคงความเข้มข้นได้เหมือนเดิม เพียงแต่เรามาเปลี่ยนวิธีการกันนิดหน่อย เพื่อให้ลูกน้อยของเราได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในการเรียนรู้ความผิดของตัวเอง โดยนำหลักการและวิธีการดี ๆ ของ นพ.ทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น มาปรับใช้กันดูค่ะ 

 

1. การเข้ามุม (Time out)

          วิธีการยอดฮิตที่ช่วยพิชิตเด็กดื้อ เด็กแสบมานักต่อนักแล้วค่ะ วิธีการง่าย ๆ เริ่มตั้งแต่คุณพ่อคุณแม่ต้องกำหนดพฤติกรรมเป้าหมายที่ต้องการจะให้ลูกลดหรือหยุดการกระทำให้ชัดเจน โดยพูดคุยบอกกล่าวกับลูกก่อน ถือเป็นข้อตกลงร่วมกัน เป็นกติกาที่มีการรับรู้กันอย่างชัดเจนตั้งแต่เวลาที่ลูกยังไม่ได้ทำพฤติกรรมที่คุณพ่อคุณแม่เห็นว่าไม่ถูกต้องไม่สมควร โดยอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ให้เด็กฟัง ในขณะที่ยังอารมณ์ดีอยู่ เช่น “หนูต้องไปนั่งตรงนั้น ถ้าทำ.....” (ใส่พฤติกรรมที่ต้องการจะตกลงให้เป็นข้อห้ามลงไป” แล้วเลือกสถานที่นั่งเข้ามุมให้เหมาะสม มองเห็นได้ชัด ข้อสำคัญเป็นสิ่งที่ห้ามทำเด็ดขาด นั่นคือ ใช้ห้องน้ำ ห้องเก็บของ ตู้เสื้อผ้า ห้องนอน หรือระเบียงบ้านเป็นสถานที่เข้ามุม ห้ามให้ลูกไปอยู่ในที่ที่กำลังถูกลงโทษแบบไกลสายตาพ่อแม่ 

          จากนั้น เมื่อเด็กเกิดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ ก็ให้ไปนั่งบริเวณที่กำหนด ตามเวลาที่กำหนด เช่น ลูกอายุ 3 ขวบ ก็อาจจะให้นั่งเข้ามุมเป็นเวลาประมาณ 2-3 นาที และช่วงเวลานี้ คุณพ่อคุณแม่ต้องหนักแน่น ถืออุเบกขาเป็นที่ตั้ง ไม่ตอบสนองเด็กไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น แล้วสังเกตผลลัพธ์ที่ได้ เด็กจะร้องไห้สั้นลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งไม่ร้อง และจะได้เรียนรู้ว่า เขาสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงใด ๆ ไม่ต้องทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตีลูกแล้ว ต้องมาแอบร้องไห้ทีหลัง หรือทะเลาะกันเอง

          แต่สำหรับบางครอบครัวก็อาจจะไม่ง่ายอย่างนั้น อาจจะมีเด็กบางคนที่ไม่ยอมรับกติกานี้ งอแงไม่ยอมนั่งเอง หรือบางรายอาจทำร้ายตัวเองขณะนั่งเข้ามุม ให้คุณพ่อคุณแม่จับเด็กนั่งตักและกอดรัดลูกน้อยไว้ให้แน่น ห้ามพูดหรือตอบสนองจนสงบ เมื่อเสร็จแล้วจึงพูดคุยกับเด็กด้วยเหตุผลสั้น ๆ ไม่บ่น ไม่ดุ ไม่เสียงดัง เมื่อเด็กสงบแล้ว ให้กอดหรือหอมเพื่อบอกเขารู้ว่า การเข้ามุมไม่ได้เกิดจากพ่อแม่ไม่รัก แต่เกิดจากความรักเหมือนเดิม  และช่วงอายุที่เหมาะสมคือ เด็กน้อยอายุ 1 ขวบครึ่งขึ้นไป สามารถใช้วิธีการนี้ได้เลยค่ะ

 

2. การปรับสินไหม (Response Cost)

          วิธีนี้เรียกว่า “การปรับสินไหม” แหม ชื่ออาจจะดูจริงจังน่ากลัว เหมือนบทลงโทษตามกฎหมายเลย แต่ความจริงแล้ว ไม่มีอะไรน่ากลัวหรือรุนแรงเลยค่ะ วิธีการนี้คือ การดึงสิทธิ์หรือสิ่งของออกจากตัวเด็ก ถ้าเปรียบภาพเป็นผู้ใหญ่ เช่น การปรับเงินคนที่ขับรถผิดกฎจราจร การตัดคะแนนความประพฤติ การถูกลดเวลาเล่นเกม หรืองดทำกิจกรรมที่ชอบ เช่น ดูการ์ตูน วิ่งเล่นไล่จับ ถ้าลูกทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เมื่อไหร่ วิธีการนี้ก็จะช่วยทำให้ลูกไม่อยากเสียสิ่งที่ชอบ หรือเวลาที่ใช่ ดังนั้นไม่ทำผิด ไม่งอแงกับคุณพ่อคุณแม่จะดีกว่า เชื่อเถอะค่ะ เด็กเค้าคิดได้ และคำนวณความสุขของตัวเองเป็น

 

3. การว่ากล่าวตักเตือน (Verbal Reprimand)

          วิธีการดั้งเดิม ที่ยังคงใช้ได้ผล คือการว่ากล่าวตักเตือนด้วยวาจา โดยมีหลักการคือ เน้นที่พฤติกรรมให้ชัดเจน ว่าตักเตือนในพฤติกรรมใดที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม อย่าไปต่อว่าที่บุคลิกภาพหรือลักษณะนิสัย ใช้น้ำเสียงและสีหน้าที่นิ่ง ไม่ใช้อารมณ์ ที่สำคัญไม่แผดเสียง ไม่กรีดร้องใส่ลูก ไม่เกรี้ยวกราด โดยในขณะว่ากล่าวตักเตือน ให้มีเหตุผลประกอบได้เพียงสั้น ๆ ไม่ต้องยืดเยื้อจนกลายเป็นการบ่น ทำให้เด็กเกิดความเบื่อ และปรับสภาพให้กลายเป็นแรงต้าน และไม่เชื่อฟังไปในที่สุด

 

4. การทำกิจกรรมชดเชย (Overcorrection)

          วิธีนี้ถือว่าเป็นอีกวิธีที่ได้รับความนิยม คือการให้ลูกน้อยทำกิจกรรมชดเชย แก้ไขเกินกว่าสิ่งที่ทำผิด  ใช้กับสิ่งที่ทำผิดไปแล้ว แต่ยังสามารถแก้ไขได้ เช่น ทำโต๊ะสกปรกแล้วต้องเช็ด แต่ไม่ใช่เช็ดแค่โต๊ะนั้น แต่ต้องเพิ่มเป็นเช็ดทั้งห้องด้วย หรือโยนหนังสือลงพื้นแล้วต้องให้เก็บ และให้ไปเก็บขยะทั่วห้องเพิ่มอีกด้วย หรือถ้าลูกขโมยสิ่งของของเพื่อน ก็ต้องเอาของกลับไปคืนเพื่อน พร้อมทั้งนำของที่เพื่อนชอบไปให้เพื่อนเป็นการชดเชยอีกด้วย หรืออีกวิธีคือ การฝึกทำพฤติกรรมที่ถูกต้องซ้ำหลายรอบ ใช้กับสิ่งที่ทำผิดแล้วแก้ไขไม่ได้อีก เช่น เด็กชอบขว้างบอลใส่เพื่อน ให้แก้ไขโดย ให้โยนรับส่งบอลแบบถูกต้อง 30 รอบ และเด็กที่พูดแทรก ชอบพูดตอบโดยไม่ยกมือรอเรียก แก้ไขโดย ให้ยกมือรอเรียก แล้วค่อยตอบ 20 รอบ

 

ข้อจำกัดของการลงโทษ

          การลงโทษไม่ใช่ทางออกหรือคำตอบสุดท้ายสำหรับการสร้างพฤติกรรมที่พึงประสงค์ให้ลูก ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี แต่การลงโทษเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อลดหรือหยุดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์แบบชั่วคราว เป็นเพียงแค่การเก็บกดเอาไว้เท่านั้น แต่ตัวพฤติกรรมยังคงอยู่ และพร้อมจะแสดงออกมาเมื่อหยุดการลงโทษแล้ว ดังนั้นจึงควรมีกระบวนการสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับการลงโทษด้วย

          สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การลงโทษอย่างไม่เหมาะสม นอกจากไม่ได้ผลแล้ว ยังทำให้เกิดผลกระทบตามมา เช่น ความขัดแย้ง ความรุนแรง ยิ่งมีพฤติกรรมที่ถูกลงโทษเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งมีการต่อต้านที่รุนแรงขึ้น การลงโทษที่รุนแรงอาจก่อให้เกิดปัญหาทางกายและจิตใจ นำไปสู่ความก้าวร้าวได้

          การลงโทษที่ได้ผลดี ต้องทำทันที และทำอย่างสม่ำเสมอ การลงโทษที่ไม่แน่นอน ไม่สม่ำเสมอ ก็ไม่

ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเช่นเดียวกัน ในบางครั้งเด็กก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงถูกลงโทษ เพราะเคยทำพฤติกรรมนั้นแล้วไม่ถูกลงโทษ  

          เห็นมั้ยคะว่า การลงโทษไม่ใช่สิ่งเลวร้าย ตรงกันข้าม กลับเป็นเครื่องมือสำคัญในการยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ไม่ถูกต้อง ไม่พึงประสงค์ให้ขยายตัว เกาะกินลูกน้อยของเราจนสะบัดให้ออกยากเย็นในวันที่เขาเติบโตขึ้นแล้ว ดังนั้นการลงโทษลูกอย่างถูกวิธีตั้งแต่ยังเด็ก โดยไม่ใช้ความรุนแรง จะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีกว่าการลงโทษแบบใช้การตีหรือไม้เรียวอย่างแน่นอนค่ะ

 

 Auntie

 

บทความอ้างอิง

การลงโทษ ทำได้โดยไม่ต้องตี, Punishment, HAPPY HOME ACADEMY - ศูนย์วิชาการ แฮปปี้โฮม (happyhomeclinic.com)

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook TCAS
  • 29 Followers
  • Follow